วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประติมากรรมไทย

ประติมากรรมเป็นผลงานทางศิลปะที่มีรูปทรง 3 มิติ คือ มีความสูงความกว้างและความนูนหรือลึก เกิดขึ้นจากการปั้นหล่อ แกะ สลัก ฉลุ หรือดุนตั้งแต่โบราณมา บรรพบุรุษไทยได้สร้างผลงานทางประติมากรรมขึ้น เพื่อแสดงออกถึงจินตนาการ ความรู้สึกความเชื่อ และความต้องการที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงออกของความสามารถทางด้านศิลปะ อันเป็นสุนทรียภาพของตนด้วย

การสร้างประติมากรรมนี้ ผู้สร้างจะต้องคำนึงองค์ประกอบทางศิลปะหลายประการเพื่อช่วยให้ผลงานมีความงดงาม และสามารถสร้างความรู้ สึกต่างๆ ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ชม เช่น การใช้เส้นที่คดโค้งหรืออ่อนช้อยความกลมกลึง ความมันวาว ความนูนและความเรียบ เกลี้ยงของ พื้นผิว สามารถกระตุ้นความรู้สึกละเอียดอ่อนของผู้ชม สื่อให้รู้ถึงความอิ่มเอิบและความสมบูรณ์พูนสุข แสงและเงาที่สะท้อนได้ฉากและมุมที่พอเหมาะช่วยสร้างบรรยากาศให้ได้ความรู้สึกที่ต้องการ

การสร้างและจัดงานประติมากรรมให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เช่น เหมาะกับขนาดของสถานที่ ฐานที่ตั้งและวัสดุอื่น ๆ สามารถช่วยให้ ประติมากรรมนั้นดูเด่น เป็นสง่า น่าเคารพ และน่านับถือ นอกจากนั้น การเลือกใช้วัสดุและเทคนิคการประดับตกแต่งที่เหมาะสมก็จะช่วยให้เกิดความ วิจิตรงดงาม เพิ่มคุณค่างานประติมากรรมไทยขึ้นด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสร้างงานประติมากรรมแต่ละชิ้นต้องใช้ความสามารถของช่างทางด้านศิลปะอย่างมาก

ประติมากรรมรูปเคารพที่คนไทยสร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชา มักทำเป็นรูปคน เช่น เทวรูป พระพุทธรูป หรือรูปสัญลักษณ์ เช่น ใบเสมา ธรรมจักร และกวางหมอบ และรอยพระพุทธบาท ประติมากรรมรูปคนถือเป็นประติมากรรมที่สำคัญที่สุด พระสะท้อนความเชื่อ และความผูกพันระหว่างสังคมไทยกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง มีมานานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน

ประติมากรรมตกแต่ง เป็นประติมากรรมที่ใช้ตกแต่งศิลปสถานและศิลปวัตถุต่างๆ ให้เกิดคุณค่าทางความงามและวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น ที่เราพบมากได้แก่ การแกะสลักลวดลายต่างๆ ลงบนสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง ถ้วย ชาม ฯลฯ และการประดับสถานที่ต่าง ๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ปราสาทราชวัง ด้วยลายปูนปั้นและรูปปั้นต่างๆ

ประติมากรรมของไทย นอกจากจะสะท้อนแบบแผนทางวัฒนธรรมแล้ว ยังสะท้อนความเชื่อต่างๆ อีกด้วย เช่น รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต่าง ๆ ในวัด นับ ว่าสะท้อนความเชื่อ ทางพุทธศาสนาในเรื่องไตรภูมิ

นอกจากนั้นประติมากรรมบางอย่าง มีวัตถุประสงค์ที่จะเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ทราบด้วย เช่น ประติมากรรมแกะสลักแผ่นหินอ่อนเรื่องรามเกียรติ์ประดับพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประติมากรรมปูนปั้นเรื่องทศชาติประดับหน้าพระอุโบสถวัดไลย์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น

ประติมากรรมอีกประเภทหนึ่งเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น การสลักดุนภาชนะเครื่อง ใช้ขนาดเล็กด้วยลวดลายต่างๆ การแกะสลักเครื่องดนตรี

การนำกระดาษมาสร้างเป็นหัวโขน การนำดินมาปั้นเป็นเครื่องเล่นต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา ตัวหมากรุก หรือนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องตก แต่งชั่วคราว เช่น การสลัก ผักผลไม้การสลักหยวกกล้วย และการสลักเทียนพรรษา เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ประติมากรรมเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าและประโยชน์หลายด้านบรรพบุรุษของไทยได้ริเริ่มและวางแผนงานประติมากรรมของไทยมานานแล้ว เนื่องจากประติมากรรมของไทยได้ผ่านการหล่อหลอมและผสมผสานทางวัฒนธรรมมาอย่างชาญฉลาดไทยจึงยังคงสามารถรักษารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยได้อย่างเด่นชัด

ในระยะหลังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ความเจริญของประเทศทางตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

งานศิลปะมิได้สร้างขึ้นเพียงเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่สามารถสร้างขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยดังนั้น การสร้างอนุสาวรีย์ การทำรูปปั้นและเหรียญตราต่างๆ จึงได้เกิดขึ้น บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อวงการศิลปกรรมไทยสมัยใหม่ ทุกสาขาคือ ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ศิลปินผู้ปั้นรูปอนุสาวรีย์สำคัญๆ ของชาติจำนวนมาก เช่น พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475

งานศิลปกรรมซึ่งแต่เดิมอยู่ในความดูแลของราชสำนัก ก็ได้เปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 จัดให้มีการเรียนการสอนทางด้านศิลปกรรมสาขาต่างๆ ปัจจุบันงานประติมากรรมของไทยได้เข้าสู่ยุคของศิลปะร่วมสมัย ซึ่งศิลปินมีอิสระภาพทั้งทางด้านความคิด เนื้อหาสาระ เทคนิค และรูปแบบการแสดงออก สุดแท้แต่จินตนาการและความสามารถของศิลปินผู้สร้าง

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประติมากรรมปูนปั้น

ประติมากรรมปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมมีทั้งปั้นเป็นรูปเล่าเรื่อง และลวดลายประดับ งานสลักไม้ก็มีหลงเหลืออยู่บ้าง ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะตัวอย่างที่น่าสนใจ

และได้มีการแบ่งเป็นประติมากรรม เป็นยุค

ประติมากรรม ยุคต้นเป็น

ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลมีตัวอย่างเป็นแถวพลแบก ปั้นนูนสูง ประดัยที่ผนังกระเปาะของฐานไพทีด้านใต้ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ พลแบกรูปร่างล่ำลัน หัวหักหายไปแล้วทั้งสิ้น เข้าใจว่าเป็นยักษ์ เครื่องแต่งกายที่สำคัญ ได้แก่ กรองศอคือสร้อยคอที่เป็นแผง และเส้นเชือกคาดไขว้ที่หน้าอก แสดงถึงงานในยุคต้น ในศิลปะสุโขทัยมาก่อน และก่อนหน้านั้นอีก ในศิลปะขอมได้พบที่คาดอกรูปยักษ์ รูปทารในฉากสงคราม

รูปสิงห์ปูนปั้นยังคล้ายศิลปะขอมเทียบเคียงได้กับสิงห์ที่ปราสาทนครวัด สิงห์เหล่านี้รายล้อมรอบเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม อันเป็นเจดีย์ประธานของวัดธรรมมิกราช สิงห์เหล่านี้ได้รับการบูรณะแล้วในอดีตเช่นเดียวกับองค์เจดีย์ ลวดลายประดับของสิงห์บางตัวแสดงถึงงานช่างในยุคต้น ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสันนิษฐานจากแบบอย่างศิลปะโดยเทียบกับเหตุการณ์คราวที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ( เจ้าสามพระยา) เสด็จไปตีได้เมืองขมร เพื่อทรงอธิบายช่วงเวลาที่สร้างรูปสิงห์และเจดีย์องค์นี้

ลวดลายปูนปั้นมีความสำคัญในการศึกษาลำดับทางวิวัฒนาการอันเกิดจากการสืบทอดคลี่คลายจากทั้งภายในและภายนอก นอกจากนี้ ลาดลายปูนปั้นยังใช้ตรวจสอลผลการศึกษาทางด้านรูปแบบของสิ่งก่อสร้างที่ลวดลายนั้นประดับอญุ่ได้เป็นอย่างดี ช่วงอยุธยาได้ปั้นลวดลายประดับปรางค์ เช่น ลายกรวยเชิงประดับตอนล่างของเรือนธาตุ และเฟื่องอุบะประดับตอนบนของธาตุดังที่ปรางค์วัดส้ม อันเป็นแบบแผนของช่างยุคต้น โดยปรับปรุงจากงานประดับส่วนเดียวกันของปรางค์ต้นแบบที่เมืองลพบุรี ซึ่งคลี่คลายจากงานประดับปราสาทแบบขอมอีกทอดหนึ่ง

งานประดับยุคต้นที่ปรางค์วัดนก และปรางค์วัดลังกา คือ ลักษณะร่วมสมัยกับลวดลายประดับที่วัดส้ม อนึ่ง ร่องรอยของการบูรณะสังเกตได้จากลายเดิมถูกปั้นทับหรือปั้นแทนที่ในคราวบูรณะจึงเป็นหลักฐานที่ดีในการศึกษาความแตกต่างของลักษณะลาย

แต่หากคำเครื่องทองในคราวสร้างปรางค์ เพื่อบรรจุไว้ในกรุโดยเฉพาะ ก็ย่อมหมายความว่าในช่วงเวลา 50 ปี ลวดลายประดับยังสืบทอดแบบอย่างมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก


ประติมากรรม

ประติมากรรมแบบล้านนาระยะแรก มีหลักฐานสำคัญทางด้านพระพุทธรูปอันเป็นที่มาของชื่อ " ศิลปะเชียงแสน " ส่วนใหญ่หล่อด้วยสำริด พระวรกายอวบอ้วนประทับขัดสมาธิ พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย พระพุทธรูปแบบนี้มีปัญหาทางด้านกำหนดอายุ

เอกลักษณ์ประการสำคัญของพระพุทธรูปอีกแบบหนึ่งในศิลปะล้านนารุ่นต่อมาคือ ความหลายหลายทางด้านรูปแบบลักษณะ พระอิรอยาบถ และปาง เพราะสร้างขึ้นภายหลังพระพุทธรูประยะแรก นอกจากนี้ก็มีงานปูนปั้น ทั้งรูปแบบเทวดา รูปสัตว์หิมพานต์

สำหรับพระพุทธปูนปั้นของล้านนายุคแรกที่มีหลักฐานช่วยในการกำหนดอายุนั้น เหลืออยู่น้อยมาก ที่น่าสนใจได้แก่ พระพุทธรูปยืนเคยประดิษฐานในจระนำของเจดีย์วัดป่าสัก เมืองเชียงแสน เจ้าหน้าที่ของศิลปากรได้เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เชียงแสน

พระพุทธรูปยืนองค์นี้พระพักตร์คอนข้างกลม พระหนุ(คาง) เป็นปม ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีหักหาย พระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน พระอุระนูน ชายจีวรสั้นพาดเหนือพระอังสาซ้ายปลายเป็นรูปเขี้ยวตะขาบลักษณะเช่นนี้ควรเป็นงานคราวเดียวกับที่กับที่สร้างเจดีย์วัดป่าสัก (ราว พ.ศ. 1871 ในรัชกาลของพระเจ้าแสนภูราชนัดดาของพระเจ้ามังราย)

พระพุทธรูปลีลาปูนปั้นอย่างนูนต่ำที่ผนังของเรือนธาตุด้านทิศเหนือ ด้านขวาของจระนำของเจดีย์องค์เดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอรีเยร ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นของที่ได้รับอิทธิพลทางด้านประติมานวิทยาจากศิลปะพม่าสมัยเมืองพุกาม หากเป็นดังข้อสังเกต ทฤษฏีที่ว่าพระพุทธรูปลีลาแรกทำกันก่อนในศิลปะสุโขทัยนั้นต้องทบทวนกันใหม่

พุทธศตวรรษที่20 พระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นแรกหรือล้านนาระยะแรก ศึ่งมีพระวรกายอวบอ้วนแล้ว สร้างกันตามเมืองในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งมีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีครั้นเมื่อการติดต่อทางด้านพุทธศาสนากับ
สุโขทัยอย่างใกล้ชิด มีผลให้ศิลปะสุโขทัยขึ้นมาแพร่หลาย ทำให้เกิดพระพุทธรูปลักษณะใหม่ขึ้นอีกแบบหนึ่งในศิลปะล้านนาระยะสั้น

พระพุทธรูปปูนปั้นของเจดีย์ทรงปราสาทที่ถูกก่อครอบด้วยเจดีย์ทรงระฆังข้างหอประชุมโลกราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพระพักตร์ค่อนข้างรีแม้เครื่องแต่งพระพักตร์ยังมีลักษณะกลม พระวรกายยังค่อนข้างอวบอ้วนอยู่ก็ตาม แต่อาจทำให้คิดว่าเกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่ขึ้นมาแพร่หลายในแคว้นล้านนาเมื่อช่วงแรกพุทธศตวรรษที่ 20

เช่นเดียวกับพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่พระหัตย์ขวายกขึ้นแสดงปานประทานพรทรงครองจีวรเฉียง ขาสั้นฆาฏิที่พาดบนพระอังสาซ้ายยาวลงจรดพระนาภี ในวิหารของวัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ พระพุทธรูปองค์นี้พระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราชโปรดให้หล่อขึ้นในราวพ.ศ. 1950

ประติมากรรมรูปเทวดา

รูปเทวดา หรือรูปบุคคลชั้นสูงในศิลปะล้านนาหลักฐานที่มีอยู่ส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 หรือพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา งานปั้นรูปเทวดาคงเป็นงานบูรณะในภายหลังอยู่ที่จระนำตอนล่างของเจดีย์วัดป่าสัก เมืองเชียงแสน ส่วนใหญ่เศียรของรูปเทวดาเหล่านี้หักหายไปแล้วเหลือแต่ส่วนพระวรกาย ผ้าทรงยังไม่ซับซ้อน เมื่อเทียบกับผ้าทรงรูปเทวดาในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ประดับที่ผนังของวิหารเจ็ดยอด วัดมหาโพธาราม เมืองเชียงใหม่

พระพักตร์รูปเทวดาของหน้าวิหารเจ็ดยอดแสดงถึงเค้าความนิยมในศิลปะสุโขทัยที่ยังหลงเหลืออยู่ เครื่องทรงมงกุฎ ภูษาผ้านุ่งมีแบบมากมายหลายแบบมีความวิจิตรพิสดารอันสะท้อนการสืบทอดจากศิลปะที่มีอยู่ก่อน เช่น จากเมืองเชียงแสน และคงจากศิลปะจีน รวมทั้งศิลปะพม่าด้วย นอกเหนือจากแบบอย่างที่มีอยู่ก่อนในศิลปะสุโขทัยอีกเช่นกัน

งานประดับผนังด้านนอกของวิหารนี้แบ่งไว้ 2 แถว แต่ละแถวแบ่งช่องสำหรับรูปเทวดานั่ง ที่ยืนพนมมือประดับในส่วนของพื้นที่อันเหมาะสมตรงหลืบที่เป็นมุมจากการยกเก็จ พื้นหลังของรูปเทวดาเหล่านี้ประดับลายโปร่งประเภทพันธุ์พฤกษา

รูปเทวดาทุกองค์มีพระพักตร์และพระวรกายที่ได้สัดส่วนสมบูรณ์ วงพระพักตร์ยาวรีคล้ายรูปไข่ จึงยังเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่แพร่หลายขึ้นมาตั้งแต่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่แล้ว

เครื่องประดับมากมายหลากหลายด้วยรูปแบบ เช่น มงกุฏ กรองศอ สังวาล และภูษา เป็นต้น คงจำลองหรือดัดแปลงจากเครื่องทรงในราชสำนักของสมัยนั้น รูปแบบของเครื่องทรง เครื่องประดับเหล่านี้ชวนให้คิดว่าอาจเกี่ยวข้องกับที่มีอยู่ในศิลปะสุโขทัย พม่า และจีน ด้วย

ผนังหรือพื้นหลังของรูปเทวดามีลายรูปดอกไม้ใบไม้เป็นกลุ่ม พร้อมทั้งลายประดิษฐ์เป็นแถบพลิ้วประกอบอยู่ด้วย แสดงถึงอิทธิพลของลวดลายประดับแบบจีนซึ่งไม่เพียงแพร่หลายอยู่ในศิลปะล้านนาเท่านั้น แต่ยังปะปนอยู่ในงานประดับของศิลปะสุโขทัยและศิลปะพม่าด้วยเช่นกัน

งานปูนปั้นดังกล่าวนอกจากประดับผนังให้งดงามแล้ว ยังมีความหมายคือเล่าเรื่องราวในเรื่องพุทธประวัติที่กล่าวถึงเหล่าเทวดาพากันมาชุมนุมท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ที่โปรยปรายลงมาเพื่อแสดงความชื่นชมยินดีคราวที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ตรงกับความประสงค์ในการสร้างเพื่อระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์

การประดับรูปเทวดายังสืบต่อกันมาโดยประดับที่ผนังเรือนธาตุเจดีย์ทรงปราสาทแต่ด้วยความหมายที่แตกต่างจากรูปเหล่าเทวดาที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด เพราะคงความถึงเทวดาผู้รักษาเท่านั้น มิใช่หมายถึงเทพชุมนุมในพุทธประวัติ เช่น ที่เจดีย์วัดโลกโมลี กู่พระแก่นจันทร์ รวมทั้งงานประดับรุ่นหลัง ซึ่งประดับรูปเทวดายืนไว้เสากรอบประตูทางเข้าอุโบสถ เช่น ที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่

ประติมากรรม

งานประติมากรรมไทยทั่วไป หมายถึง รูปภาพที่เป็นรูปร่างปรากฏแก่สายตาสามารถสัมผัสได้โดยตรงด้วยการจับต้องซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยวิธีการปั้น หล่อ แกะสลัก เป็นต้น เพื่อตอบสนองความเชื่อ ความพึงพอใจ ความภาคภูมิใจ ร่วมไปกับการดำรงชีวิต ทั้งส่วนบุคคลและชนในสังคมไทยเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดประสบการณ์ ค่านิยมที่ได้รับ จากสิ่งแวดล้อมและได้แสดงออกมาเป็นงานประติมากรรมอันเป็นสัญลักษณ์ประจำชนชาตินั้น ๆ

ลักษณะงานประติมากรรมไทย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ

1. งานประติมากรรมที่มีลักษณะเป็นรูปทรงลอยตัว (Sculpture in the round) งานสร้างสรรค์รูปทรงในลักษณะ เช่น เป็นการสร้างทำรูปภาพให้เกิดขึ้นจากส่วนฐานซึ่งรองรับอยู่ทางตอนล่างรูปทรงของงานประติมากรรม อาจแสดงรูปแบบที่แลดูได้ทุกด้าน หรือแสดงทิศทางและการเฉลี่ยน้ำหนักลงสู่ฐานงานประติมากรรมไทยที่มีลักษณะเป็นรูปทรงลอยตัวนี้ ตัวอย่าง พระพุทธรูปเทวรูปต่าง ๆ เช่น รูปพระนารายณ์ทรงปืน ที่หน้าพระที่นั่งพุทธไธยสวรรค์ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และรูปนางธรณีบีบมวยผม หน้ากระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

2. งานประติมากรรมที่มีลักษณะเป็นรูปทรงแบบราบมีพื้นรองรับ (Sculpture in the relief) งานสร้างสรรค์รูปทรงประติมากรรมเช่นนี้ เป็นการสร้างและนำเสนอ รูปทรงแต่จำเพาะด้านใดด้านหนึ่งให้ปรากฏแก่ตา โดยลำดับรูปทรงต่าง ๆ ลงบนพื้นราบซึ่งรองรับ อยู่ทางด้านหลังแห่งรูปทรงทั้งปวงการเคลื่อนไหวและทิศทางของรูปภาพอาจกระทำได้ในทางราบขนานไปกับพื้นผิวระนาบของพื้นหลังงานประติมากรรมในลักษณะนี้ แสดงรูปทรงและเนื้อหาให้ ปรากฏเห็นได้จำเพาะแต่เพียงด้านเดียว ตัวอย่างเช่น รูปภาพปั้นปูนเรื่องเรื่องทศชาติชาดกที่วัดไล อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ลวดลายไม้บานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

3. งานประติมากรรมที่มีลักษณะเป็นรูปทรงจมอยู่ในพื้น (Sculpture in the mcise) งานประติมากรรมลักษณะเช่นที่ว่าเป็นผลอันเกิดแต่การสร้างสรรค์รูปทรงต่าง ๆ ให้ปรากฏและมีอยู่ในพื้นที่รองรับอยู่นั้น งานประติมากรรมจึงมีลักษณะเป็นทั้งรูปภาพที่เกิดขึ้นด้วยเส้นขีดเป็นทางลึกลงในพื้น (Incise Line) อย่างหนึ่ง กับรูปภาพซึ่งเกิดขึ้นโดยการเจาะหรือฉลุส่วนที่เป็นพื้นออก (Craving) ให้คาไว้แต่ส่วนที่เป็นรูปภาพงานประติมากรรมลักษณะดังกล่าว เป็นการนำเสนอรูปแบบและเนื้อหาให้ปรากฏและแลเห็นได้จำเพาะแต่ด้านเดียว เช่นเดียวกับงานประติมากรรมลักษณะที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2 ตัวอย่างเช่น ภาพลายเส้นในรอยพระพุทธบาทสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างงานประติมากรรมที่สร้างทำด้วยวิธีขีดเส้นเป็นทางลึกลงไปในพื้นรูปภาพหนังใหญ่ สลักเป็นตัวละครในเรื่อง รามเกียรติ์ นี้เป็นตัวอย่างทำงานประติมากรรมที่มีรูปทรงจมอยู่ในพื้น โดยการฉลุหรือเจาะส่วนพื้นออกทิ้ง เหลือไว้แต่ส่วนที่เป็นรูปภาพ

อนึ่งงานประติมากรรมไทย นอกเสียจากลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าว ในแต่ละข้อข้างต้นนี้แล้ว ยังมีงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ว่าเป็นงานประติมากรรมได้อีกลักษณะหนึ่ง คืองานประติมากรรมลักษณะที่เป็นสิ่งห้อยหรือแขวน (Mobile)เช่นรูปพวงปลาตะเพียนสานด้วยใบลานทำเป็นเครื่องห้อยรูปพวงกระจับทำด้วยเศษผ้าใช้แขวนรูปพวงกลางทำร้อยด้วยดอกไม้สดใช้แขวนต่างเครื่องประดับเป็นต้น

ความหมายของสุนทรียศาสตร์ ( Aesthetics )

สุนทรียศาสตร์ เดิมเรียกว่าวิทยาศาสตร์ของเยอรมัน (The German Science) เนื่องจากตลอดระยะสองศตวรรษที่ผ่านมา เยอรมันมีผลงานทางด้านสุนทรียศาสตร์มากว่าผลงานของประเทศอื่น ๆ สามประเทศรวมกัน ผลงานด้านสุนทรียศาสตร์ของเยอรมัน มีทั้งความเรียง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก วิทยานิพนธ์ปริญญาโท และความความที่เกี่ยวข้องมากมาย ปราชญ์ของประเทศอื่นไม่มีใครกล่าวถึงความงาม (Beauty) แต่ประการใด สุนทรียศาสตร์เริ่มมีความหมายแบบสมัยใหม่ในลักษณะเป็นสาขาของปรัชญา เริ่มจากเรื่อง The Aesthetica ของเบาว์มการ์เทน (Alexander Gottieb Baumgarten) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1750 (Schiller, 1974 : 4-5) และซันตายานา (George Santayana) ก็ได้กล่าวไว้ว่าการที่สุนทรียศาสตร์ได้รับความสนใจน้อยไม่ใช่เพราะวิชาสุนทรียศาสตร์ไม่สำคัญ แต่เป็นเพราะมนุษย์ขาดแรงจูงใจที่จะค้นถึงความถูกต้อง ความจริง และใช้ความพยายามน้อยไปที่จะทำการศึกษา ความสำเร็จจึงน้อยไปด้วย (Santayana, 1896 : 6)
กระนั้นก่อนหน้าที่ เบาว์มการ์เทน จะบัญญัติศัพท์คำว่า "สุนทรียศาสตร์" ขึ้นมาเป็นเวลา 2000 กว่าปี นักปราชญ์สมัยกรีก เช่น เพลโต (Plato) หรือ อริสโตเติล (Alistotle) กล่าวถึงแต่เรื่องความงาม ความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ ปัญหาที่พวกเขาโต้เถียงกันได้แก่ ความงามคืออะไร ค่าของความงามนั้นเป็นจริงมีอยู่โดยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่าค่าของความงามเป็นเพียงความข้อความที่เราใช้กับสิ่งที่เราชอบ ความงามกับสิ่งที่งามสัมพันธ์กันอย่างไร มีมาตรการตายตัวอะไรหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าสิ่งนั้นงามหรือไม่งาม เบาว์มการ์เทน มีความสนใจในปัญหาเรื่องของความงามนี้มาก เขาได้ลงมือค้นคว้ารวบรวมความรู้เกี่ยวกับความงามที่กระจัดกระจายอยู่มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความงามให้มีเนื้อหาสาระที่เข้มแข็งขึ้น แล้วตั้งชื่อวิชาเกี่ยวกับความงามหรือความรู้ที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางการรับรู้ว่า Aesthetics โดยบัญญัติจากรากศัพท์ภาษากรีก Aisthetics หมายถึง ความรู้สึกทางการรับรู้ หรือการรับรู้ตามความรู้สึก (Sense perception) สำหรับศัพท์บัญญัติภาษาไทย ก็คือ "สุนทรียศาสตร์" จากนั้นวิชาสุนทรียศาสตร์ ก็ได้รับความสนใจเป็นวิชาที่มีหลักการเจริญก้าวหน้าขึ้น สามารถศึกษาได้ถึงระดับปริญญาเอก ด้วยเหตุผลนี้ เบาว์มการ์เทน จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่ฐานะที่เติมเชื้อไฟแห่งสุนทรียศาสตร์ที่กำลังจะมอดดับให้กลับลุกโชติช่วยขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง (ทวีเกียรติ ไชยยงยศ. 2538 ; 1)
ความหมายของสุนทรียภาพ ( Aesthetic )สุนทรียภาพ ( Aesthetic ) มีความหมายของคำไว้หลายมุมมอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

สุนทรีภาพ (Aesthetic) หมายถึง ความซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่งาม ไพเราะ หรือรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือศิลปะ (พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ. 2530 : 6)
ซึ่งความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าดังกล่าวนี้ย่อมจะเจริญเติบโตได้โดยประสบการณ์ หรือการศึกษา อบรม ฝึกฝน จนเป็นอุปนิสัยเกิดขึ้นเป็นรสนิยม (Taste) ขึ้นตามตัวบุคคล และความรู้สึกนี้จึงอาจมีแตกต่างกันได้มาก แม้ระหว่างบุคคลต่อบุคคล
ที่ว่าสุนทรียภาพ เป็นความรู้สึกจากการรับรู้ที่บริสุทธิ์ในห้วงเวลาหนึ่งได้กลายเป็น ขออ้างนักปรัชญาชื่อเอมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ชาวเยอรมันที่กล่าวว่า "บางครั้งเราก็มีความรู้สึกมีความสุข เพื่อความสุขเท่านั้น" แปลความหมายได้ว่าเป็นความรู้สึกพอใจในอารมณ์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ จอห์น ฮอสเปอร์ (John Hospers) ที่ว่า สุนทรียภาพ "เป็นลักษณะของประสบการณ์ที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ" นั่นก็หมายความว่า เมื่อเรามีสุนทรียภาพกับดอกกุหลาบเพราะเราเห็นความงามของมัน ดอกกุหลาบที่เบ่งบานอยู่กับต้นทำให้เราพอใจ เพลิดเพลิน ปิติปราโมทย์ มีความสุข ถ้าเราเด็ดดอกกุหลายนั้นไปขาย แสดงว่าเราไม่ได้มีสุนทรียภาพเพราะเราชอบดอกกุหลาบนั้นเพียงเพื่อจะขายเอาเงินเท่านั้น เป็นการชอบที่ไม่บริสุทธิ์ใจ เพราะผลที่ตามมาคือการทำลาย การที่จะตัดสินใจว่า ใครมีสุนทรียภาพหรือใครไม่มีสุนทรียภาพท่านว่าให้พิจารณาที่ค่าในตัวหรือค่านอกตัวของสิ่งนั้น ถ้าบุคคลมองเห็นค่าในตัวของวัตถุนั้นแสดงว่า มีสุนทรียภาพ ในทางตรงกันข้ามถ้าบุคคลนั้นมองเห็นค่านอกตัวของวัตถุมากกว่าค่าในตัวก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่มีสุนทรียภาพ ยกตัวอย่าง ความงามของหญิงสาว เรามองเห็นหญิงสาวแล้วพอใจจนเผลอใจ เพราะได้มองเห็นสัดส่วนในตัวผู้หญิง ว่าช่างพอเหมาะไปหมด (ค่าในตัว) ถึงกับเผลออุทานว่า "เธอช่างงดงามอะไรเช่นนั้น" อย่างนี้เรียกว่า มีสุนทรียภาพ เพราะเห็นค่าในตัวของหญิง แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม เมื่อเรามองเห็นหญิงสาวแล้วคิดต่อไปว่า ถ้าเอาไปขายจะได้ราคาดี อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสุนทรียภาพ เพราะมองไม่เห็นค่าในตัว แต่กลับไปเห็นค่านอกตัว คือ เงิน หรือเห็นหญิงงามแล้วเกิดความใคร่ขึ้นมาแสดงว่าเห็นค่านอกตัว คือ กามารมณ์ จัดว่าไม่มีสุนทรียภาพเช่นกัน (ทวีเกียรติ ไชยยงยศ. 2528 : 3)

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550