วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความหมายของสุนทรียศาสตร์ ( Aesthetics )

สุนทรียศาสตร์ เดิมเรียกว่าวิทยาศาสตร์ของเยอรมัน (The German Science) เนื่องจากตลอดระยะสองศตวรรษที่ผ่านมา เยอรมันมีผลงานทางด้านสุนทรียศาสตร์มากว่าผลงานของประเทศอื่น ๆ สามประเทศรวมกัน ผลงานด้านสุนทรียศาสตร์ของเยอรมัน มีทั้งความเรียง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก วิทยานิพนธ์ปริญญาโท และความความที่เกี่ยวข้องมากมาย ปราชญ์ของประเทศอื่นไม่มีใครกล่าวถึงความงาม (Beauty) แต่ประการใด สุนทรียศาสตร์เริ่มมีความหมายแบบสมัยใหม่ในลักษณะเป็นสาขาของปรัชญา เริ่มจากเรื่อง The Aesthetica ของเบาว์มการ์เทน (Alexander Gottieb Baumgarten) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1750 (Schiller, 1974 : 4-5) และซันตายานา (George Santayana) ก็ได้กล่าวไว้ว่าการที่สุนทรียศาสตร์ได้รับความสนใจน้อยไม่ใช่เพราะวิชาสุนทรียศาสตร์ไม่สำคัญ แต่เป็นเพราะมนุษย์ขาดแรงจูงใจที่จะค้นถึงความถูกต้อง ความจริง และใช้ความพยายามน้อยไปที่จะทำการศึกษา ความสำเร็จจึงน้อยไปด้วย (Santayana, 1896 : 6)
กระนั้นก่อนหน้าที่ เบาว์มการ์เทน จะบัญญัติศัพท์คำว่า "สุนทรียศาสตร์" ขึ้นมาเป็นเวลา 2000 กว่าปี นักปราชญ์สมัยกรีก เช่น เพลโต (Plato) หรือ อริสโตเติล (Alistotle) กล่าวถึงแต่เรื่องความงาม ความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ ปัญหาที่พวกเขาโต้เถียงกันได้แก่ ความงามคืออะไร ค่าของความงามนั้นเป็นจริงมีอยู่โดยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่าค่าของความงามเป็นเพียงความข้อความที่เราใช้กับสิ่งที่เราชอบ ความงามกับสิ่งที่งามสัมพันธ์กันอย่างไร มีมาตรการตายตัวอะไรหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าสิ่งนั้นงามหรือไม่งาม เบาว์มการ์เทน มีความสนใจในปัญหาเรื่องของความงามนี้มาก เขาได้ลงมือค้นคว้ารวบรวมความรู้เกี่ยวกับความงามที่กระจัดกระจายอยู่มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความงามให้มีเนื้อหาสาระที่เข้มแข็งขึ้น แล้วตั้งชื่อวิชาเกี่ยวกับความงามหรือความรู้ที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางการรับรู้ว่า Aesthetics โดยบัญญัติจากรากศัพท์ภาษากรีก Aisthetics หมายถึง ความรู้สึกทางการรับรู้ หรือการรับรู้ตามความรู้สึก (Sense perception) สำหรับศัพท์บัญญัติภาษาไทย ก็คือ "สุนทรียศาสตร์" จากนั้นวิชาสุนทรียศาสตร์ ก็ได้รับความสนใจเป็นวิชาที่มีหลักการเจริญก้าวหน้าขึ้น สามารถศึกษาได้ถึงระดับปริญญาเอก ด้วยเหตุผลนี้ เบาว์มการ์เทน จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่ฐานะที่เติมเชื้อไฟแห่งสุนทรียศาสตร์ที่กำลังจะมอดดับให้กลับลุกโชติช่วยขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง (ทวีเกียรติ ไชยยงยศ. 2538 ; 1)
ความหมายของสุนทรียภาพ ( Aesthetic )สุนทรียภาพ ( Aesthetic ) มีความหมายของคำไว้หลายมุมมอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

สุนทรีภาพ (Aesthetic) หมายถึง ความซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่งาม ไพเราะ หรือรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือศิลปะ (พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ. 2530 : 6)
ซึ่งความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าดังกล่าวนี้ย่อมจะเจริญเติบโตได้โดยประสบการณ์ หรือการศึกษา อบรม ฝึกฝน จนเป็นอุปนิสัยเกิดขึ้นเป็นรสนิยม (Taste) ขึ้นตามตัวบุคคล และความรู้สึกนี้จึงอาจมีแตกต่างกันได้มาก แม้ระหว่างบุคคลต่อบุคคล
ที่ว่าสุนทรียภาพ เป็นความรู้สึกจากการรับรู้ที่บริสุทธิ์ในห้วงเวลาหนึ่งได้กลายเป็น ขออ้างนักปรัชญาชื่อเอมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ชาวเยอรมันที่กล่าวว่า "บางครั้งเราก็มีความรู้สึกมีความสุข เพื่อความสุขเท่านั้น" แปลความหมายได้ว่าเป็นความรู้สึกพอใจในอารมณ์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ จอห์น ฮอสเปอร์ (John Hospers) ที่ว่า สุนทรียภาพ "เป็นลักษณะของประสบการณ์ที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ" นั่นก็หมายความว่า เมื่อเรามีสุนทรียภาพกับดอกกุหลาบเพราะเราเห็นความงามของมัน ดอกกุหลาบที่เบ่งบานอยู่กับต้นทำให้เราพอใจ เพลิดเพลิน ปิติปราโมทย์ มีความสุข ถ้าเราเด็ดดอกกุหลายนั้นไปขาย แสดงว่าเราไม่ได้มีสุนทรียภาพเพราะเราชอบดอกกุหลาบนั้นเพียงเพื่อจะขายเอาเงินเท่านั้น เป็นการชอบที่ไม่บริสุทธิ์ใจ เพราะผลที่ตามมาคือการทำลาย การที่จะตัดสินใจว่า ใครมีสุนทรียภาพหรือใครไม่มีสุนทรียภาพท่านว่าให้พิจารณาที่ค่าในตัวหรือค่านอกตัวของสิ่งนั้น ถ้าบุคคลมองเห็นค่าในตัวของวัตถุนั้นแสดงว่า มีสุนทรียภาพ ในทางตรงกันข้ามถ้าบุคคลนั้นมองเห็นค่านอกตัวของวัตถุมากกว่าค่าในตัวก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่มีสุนทรียภาพ ยกตัวอย่าง ความงามของหญิงสาว เรามองเห็นหญิงสาวแล้วพอใจจนเผลอใจ เพราะได้มองเห็นสัดส่วนในตัวผู้หญิง ว่าช่างพอเหมาะไปหมด (ค่าในตัว) ถึงกับเผลออุทานว่า "เธอช่างงดงามอะไรเช่นนั้น" อย่างนี้เรียกว่า มีสุนทรียภาพ เพราะเห็นค่าในตัวของหญิง แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม เมื่อเรามองเห็นหญิงสาวแล้วคิดต่อไปว่า ถ้าเอาไปขายจะได้ราคาดี อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสุนทรียภาพ เพราะมองไม่เห็นค่าในตัว แต่กลับไปเห็นค่านอกตัว คือ เงิน หรือเห็นหญิงงามแล้วเกิดความใคร่ขึ้นมาแสดงว่าเห็นค่านอกตัว คือ กามารมณ์ จัดว่าไม่มีสุนทรียภาพเช่นกัน (ทวีเกียรติ ไชยยงยศ. 2528 : 3)

ไม่มีความคิดเห็น: